Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
Financial Planning : รู้จักกับ 6 แผนการเงิน

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “การวางแผนการเงิน” กันบ้างแล้ว แต่อาจรู้สึกว่า “ไกลตัว” หรือเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเราจริงๆ แล้ว การวางแผนการเงินถ้าพูดอย่างง่ายก็คือ การวางแผนชีวิตของเรานั่นเองค่ะว่าเรามีความฝันอยากให้ชีวิตของเราเป็นอย่างไร อยากใช้ชีวิตรูปแบบไหน อยากเป็นลูกจ้างไปตลอด หรืออยากเป็นเจ้าของธุรกิจเองซักวัน เรื่องเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ค่ะถ้าเรามีการวางแผนที่ดี เพราะจะช่วยให้เรามีวินัย และมองเห็นเส้นชัยที่จะไปข้างหน้าอย่างชัดเจน

ถ้าพูดถึงกระบวนการวางแผน ก็ต้องเกริ่นกันก่อนว่า แผนการเงินมีทั้งหมด 6 แผนหลักด้วยกันซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Management) ให้กับเรา โดยในกระบวนการสร้างความมั่งคั่งนั้นเน้นตั้งแต่การสร้าง สะสม ปกป้อง และถ่ายโอนความมั่งคั่งค่ะ ซึ่งจะตรงกับแผนการเงินใดบ้างนั้น ลองมาดูกันค่ะ

ในการสร้างความมั่งคั่ง เราจะเริ่มจากขั้นตอนแรกคือ การสร้างก่อน ซึ่งจะตรงกับการวางแผนใช้จ่าย ส่วนการสะสมความมั่งคั่งจะเป็นการวางแผนลงทุนให้เงินออมของเรางอกเงย และการวางแผนภาษีให้ครบถ้วน เนื่องจากภาษีจัดเป็นค่าใช้จ่ายตัวหนึ่งที่ดึงเงินออมในกระเป๋าของเราออกไปไม่น้อยค่ะ ซึ่งในระหว่างที่เราสะสมความมั่งคั่งก็ต้องอย่าลืมปกป้องความมั่งคั่งของเราไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ สุขภาพ รวมจนถึงชีวิต ก็ต้องมีการวางแผนในเรื่องของความคุ้มครองเพื่อป้องกันจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นคะ นอกจากปกป้องเรื่องไม่คาดฝันแล้ว การปกป้องรักษาคุณภาพการใช้ชีวิตของเราก็สำคัญไม่น้อย นั่นก็คือ การวางแผนเกษียณคะว่า เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ในวันที่เกษียณอายุ ซึ่งต้องบอกว่า ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี ส่วนการวางแผนขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือการวางแผนมรดก จะเป็นการเตรียมการถ่ายโอนความมั่งคั่งให้กับบุตรหลาน การทำพินัยกรรมและการส่งมอบทรัพย์สินค่ะ ใน 6 แผนหลักนี้เกี่ยวพันกับอะไรบ้างนั้น มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ

1. การวางแผนใช้จ่าย

ขั้นแรกของการวางแผนการเงินคือ การบริหารรายรับ รายจ่าย โดยปกติทั่วไปเรามักใช้จ่ายก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออม ซึ่งถ้าใช้สูตรนี้ สำหรับการออม มักไม่ค่อยเหลือค่ะ การบริหารจัดการรายได้ ค่าใช้จ่าย จัดเป็นรากฐานของการวางแผนที่ดี สูตรเงินออมที่ใช้ จึงควรเริ่มจากการออมก่อนใช้จ่ายค่ะ และควรกันเงินสำรอง เพื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยอาจอยู่ในูปของรเงินสด เงินฝากธนาคาร และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก็ได้ เพื่อที่ว่าเวลามีเหตุฉุกเฉิน เราก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงทีไม่ต้องไปกู้หนี้ใครค่ะ

2. การวางแผนลงทุน

เมื่อสามารถเก็บสะสมเงินออมได้ระดับหนึ่ง การนำเงินออมมาลงทุนเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้งอกเงย เพราะการออมเงินในบัญชีเงินฝากเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ในปัจจุบัน ทางเลือกลงทุนมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ทองคำ หรือกองทุนรวม สิ่งสำคัญคือ การเลือกลงทุนที่เหมาะกับเรา ผู้ลงทุนควรลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ และควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ

 
3. การวางแผนประกันและการจัดการความเสี่ยง

เหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย และภัยทางธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอและทำให้ความมั่งคั่งทางการเงินของเราลดลง การจัดการความเสี่ยงที่ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสามารถบรรเทา คุ้มครองให้ชีวิตและทรัพย์สินของเราถูกกระทบจากความไม่แน่นอนเหล่านี้น้อยที่สุด การวางแผนประกันเป็นวิธีจัดการความเสี่ยงที่ดีแบบหนึ่ง โดยโอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของเราไปยังบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย

 
 
 
4. การวางแผนภาษี

เมื่อรายได้เพิ่มสูงขึ้น ภาระภาษีก็จะเพิ่มขึ้นตามอัตราขั้นบันได กลายเป็นว่า ยิ่งรายได้สูง ก็จะมีรายจ่ายภาษีที่สูงตามติดเป็นเงาตามตัวด้วย การวางแผนภาษีจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดภาระภาษีลงได้อย่างถูกกฎหมาย กลยุทธ์การวางแผนภาษีมีหลายรูปแบบ เช่น การกระจายหน่วยรายได้ การเลื่อนระยะเวลารับรายได้ การแยกยื่นภาษี และการใช้สิทธิค่าลดหย่อนต่างๆ เป็นต้น

5. การวางแผนเกษียณ

หลายคนมักละเลยที่จะวางแผนเกษียณ เนื่องจากมองว่า ควรวางแผนเกษียณเมื่ออายุมาก จริงๆ แล้ว เราควรเริ่ม วางแผนเกษียณตั้งแต่ช่วงที่อายุยังไม่มากหรือในช่วงที่หน้าที่การงานเริ่มมีความมั่นคง เพราะหากเริ่มออมเงินแต่เนิ่นๆ จำนวนเงินที่ต้องเก็บออมในแต่ละปีจะเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก

 

 
6. การวางแผนมรดก

ขั้นตอนสุดท้ายของการวางแผนการเงินคือ การวางแผนมรดก ซึ่งมีไว้เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินให้ทายาทตามเจตนาของเจ้าของทรัพย์สิน หากไม่ได้มีการวางแผนมรดกไว้ เมื่อเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต มรดกจะตกทอดไปยังบุคคลที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของเจ้าของทรัพย์สินก็ได้ การวางแผนมรดกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้เราสามารถเตรียมส่งมอบทรัพย์สินให้กับทายาทได้ตรงตามที่เราต้องการ หากใครอยากเริ่มต้นวางแผนการเงิน สามารถเริ่มต้นด้วยตนเองง่ายๆ ด้วยการวางแผนใช้จ่ายก่อนค่ะ หลังจากนั้นค่อยตามมา ด้วยแผนอื่นๆ ที่จะช่วยสะสมและปกป้องความมั่งคั่งของคุณ ให้ความฝันในการใช้ชีวิตเป็นจริงได้ด้วยการวางแผนที่ดีค่ะ



AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY